สรุปการคิดเชิงวิพากษ์ หรือ critical thinking

Image placeholder
แวะมาทักทายกันได้

สรุปการคิดเชิงวิพากษ์ หรือ critical thinking

 

ทักษะอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญกับทุกระดับอาชีพ ไม่แพ้ทักษะอื่น ๆ คือทักษะการคิด วิธีการคิดนั้นมีอยู่หลากหลายรูปแบบมากมาย ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ให้เหมาะสม แต่วิธีคิดในเนื้อหาบทความนี้จะช่วยให้รู้จักกระบวนการคิดอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นสิ่งจำเป็นกับยุคสมัยนี้ที่ข้อมูลหลากหลายประเภทต่างถูกป้อนเข้ามายังตรงหน้าผ่านสื่อมีเดียต่าง ๆ ที่อำนวยความสะดวกเรามากขึ้น เหลือแค่เพียงหยิบข้อมูลเหล่านั้นมาป้อนเข้าสู่สมองเท่านั้นด้วยตัวผู้รับข้อมูลเอง หรือ แม้แต่เป็นข้อมูลที่ตายตัวที่จะต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภค ก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน

 

การรับข้อมูลมหาศาลเข้าสู่สมองโดยไม่ว่าจะผ่านการอ่านหรือวิดีโอก็ตามไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ เรื่องที่สำคัญคือการแยกแยะข้อมูลต่างๆ คิดวิเคราะห์ว่ามีข้อเท็จจริงหรือความถูกต้องเพียงใดมากกว่า ซึ่งจะทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านั้นถูก แยกแยะหรือกรองก่อนที่จะเข้ามาในสมองได้อย่างมีคุณภาพ

 

แล้วทักษะที่ดูเหมือนจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนนี้ แท้จริงแล้วคืออะไรกัน

 

การคิดเชิงวิพากษ์คืออะไร

การคิดเชิงวิพากษ์เป็นทักษะการคิดที่มีลำดับการคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สามารถฝึกฝนกันได้ซึ่งคนที่สามารถคิดแบบเชิงวิพากษ์ได้นั้น จะเป็นคนที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสรุปผลลัพธ์จากสิ่งที่รู้และเข้าใจวิธีใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมถึงการคิดอย่างมีเหตุมีผล มีการจัดลำดับความคิด โดยไม่ใช้อารมณ์กับความรู้สึกในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจและจัดการสถานการณ์ตามข้อเท็จจริง ช่วยให้ตัดสินใจได้ดีและรอบคอบมากยิ่งขึ้น

 

ทำไมเราจึงต้องศึกษาวิธีคิดเชิงวิพากษ์

ความเชื่อแบบผิดๆ ยังมีอยู่ทั่วไปแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือ ความเชื่อแบบผิดๆนั้นทำให้เกิดผลเสียต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ความงมงาย หรือแม้แต่ความคิดแง่ลบต่าง ๆ ดังนั้นเราจึงยังคงจำเป็นที่จะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ

 

ประโยชน์ของการคิดเชิงวิพากษ์

งานวิจัยหลายฉบับ ยืนยันว่าเด็กๆที่มีการคิดเชิงวิพากษ์นั้น จะประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งการดำเนินชีวิต อาชีพการงาน ความมั่นคงทางการเงิน นอกจากนี้ ยังช่วยในเรื่อง กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมทักษะในหลายด้าน

 

 

 

 

 

 

 

 

กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น

ความอยากรู้อยากเห็นจะทำคุณเข้าใจเรื่องต่างๆได้ลึกซึ้งมากขึ้น นักคิดวิเคราะห์ ส่วนใหญ่มักจะตั้งคำถามในทุกๆด้านของปัญหาและข้อเท็จจริงที่ซ่อนอยู่ การเรียนรู้อยู่ตลอดชีวิตจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเป็น นักคิดวิเคราะห์

 

ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์

นักคิดวิเคราะห์ อาจจะเป็นนักคิดสร้างสรรค์ด้วย ในปัจจุบันความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับคนทำงานสมัยใหม่โดยเฉพาะงานด้านการตลาด เพื่อการสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการและสร้างสรรค์วิธีการโฆษณาช่องทางต่างๆ ช่วนเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหรือบริการ นำมาซึ่งผลกำไรที่มากขึ้นนั่นเอง

 

ช่วยส่งเสริมทักษะหลายด้าน

การคิดวิเคราะห์เป็นปลูกฝังความสามารถทางปัญญาให้ได้คิดในหลายแง่มุม เพราะจิตใจต้องได้รับการออกกำลังกายเช่นเดียวกันกับกล้ามเนื้อ

 

จากประโยชน์ที่กล่าวมานั้นล้วนเป็นข้อดีในการดำเนินชีวิตทั้งสิ้น แต่กระบวนการต่างๆนั้น จำเป็นต้องกระกอบไปด้วยทักษะย่อยต่าง ๆ ที่จะช่วยให้สามารถพัฒนาการคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ลองเรียน 5 ทักษะที่ต้องมีเพื่อการคิดวิเคราะห์

 

5 ทักษะที่ต้องมีเพื่อการคิดวิเคราะห์

 

ทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีเหตุผล เป็นสิ่งจำเป็นในทุกอุตสาหกรรม ทุกอาชีพไม่ว่าจะระดับใดก็ตาม ทักษะการคิดที่สามารถนำมาใช้ แทนที่อารมณ์และอคติเมื่อคุณกำลังคิดถึงปัญหา หรือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ที่จะช่วยเพิ่มมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ และ เพิ่มโอกาสหรือความเป็นไปได้ทางความคิดมากขึ้น โดยที่เริ่มฝึกทักษะง่ายๆดังต่อไปนี้

 

ทักษะการสังเกต

การสังเกตเป็นจุดเริ่มต้นของทักษะการคิดวิเคราะห์ คนที่ช่างสังเกต สามารถรับรู้และระบุปัญหาใหม่ได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าใจได้ว่าเหตุใด สิ่งนั้นอาจจะเป็นปัญหา

 

วิธีพัฒนาทักษะการสังเกต

เพิ่มความใจเย็นและฝึกตัวเองให้ใส่ใจสิ่งรอบข้าง อาจเริ่มจากการฝึกตัวเองให้มีสติ เทคนิคหนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะเสนอแนะ จากประสบการณ์ส่วนตัว ผู้เขียนนั้นใช้วิธีฝึกด้วยการถ่ายภาพ ฝึกมองสิ่งรอบตัว โดยใช้วิธีการสังเกตจากการตั้งคำถามเพื่อให้ได้รูปภาพอย่างที่ตั้งใจ

 

ทักษะการวิเคราะห์

เมื่อสามารถระบุปัญหาได้แล้ว ทักษะการวิเคราะห์จะเข้ามามีบทบาท ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และ ประเมินสถานการณ์อย่างมีประสิทธิผล รู้ว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริงหรืออะไรเป็นข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่สำคัญ ซึ่งการวิเคราะห์นี้มักรวมไปถึงการรวบรวมการวิจัยที่เป็นกลาง การถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกต้องและเป็นกลาง

 

วิธีพัฒนาทักษะการวิเคราะห์

การได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ สามารถช่วยเพิ่มทักษะการวิเคราะห์ได้ เช่น คุณอาจจะอ่านหนังสือเกี่ยวกับแนวคิดที่คุณไม่คุ้นเคย หรือ การหากิจกรรมใหม่ๆ ทำร่วมกับผู้อื่น การกระทำเช่นนี้ จะช่วนให้คุณสร้างทักษะการตีความข้อมูลใหม่ และ ตัดสินใจอย่างมีเหตุผลโดยอาศัยการวิเคราะห์มากขึ้น

 

ทักษะการอนุมาน

เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสรุป เป็นการสรุปข้อมูลที่คุณได้รวบรวมซึ่งอาจต้องใช้ความรู้ ความสามารถ หรือ ประสบการณ์เฉพาะของเรื่องนั้นๆด้วย เพราะเมื่อคุณทำการอนุมานหรือทำการสรุป นั่นหมายความว่าคุณกำลังแสดงคำตอบโดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่จำกัด เช่น โปรแกรมเมอร์อาจจะต้องอนุมานว่า ทำไมถึงเกิดข้อผิดพลาดหลังจากกดปุ่มซื้อสินค้าประเภทนี้ ทั้งที่เปรียบเทียบกับสินค้าประเภทอื่นแล้วไม่เกิดข้อผิดพลาดใดๆ เป็นต้น อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาด ซึ่งหากเป็นโปรแกรมเมอร์ที่มีประสบการณ์ ก็จะสามารถอนุมานได้ตามข้อมูลที่มีอยู่

 

วิธีการพัฒนาทักษะการอนุมาน

ให้ความสำคัญกับการคาดเดาอย่างผู้มีความรู้และไม่ต้องเร่งรีบเพื่อทำการสรุป การวิเคราะห์ต้องอาศัยเวลาเพื่อค้นหาเบาะแสให้ได้มากที่สุด อย่างเช่น รูปภาพ ข้อมูล หรือรายงาน ซึ่งอาจช่วยให้คุณสามารถประเมินสถานการณ์ได้ จากการพิจารณาข้อมูลทั้งหมดอย่างถี่ถ้วนแล้ว

 

ทักษะการสื่อสาร

ทักษะการสื่อสาร มีความสำคัญเมื่อต้องอธิบาย แนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้กับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งทักษะการสื่อสารเป็นทักษะที่ทุกคนต้องมีและต้องประยุกต์ใช้ได้กับทุกสถานการณ์รวมถึงการคิดวิเคราะห์ด้วย เพราะเพียงแต่หาทางแก้ไขปัญหาได้เท่านั้น คุณต้องสามารถสื่อสารหรือถ่ายทอดให้ผู้ร่วมดำเนินการเข้าใจสิ่งที่คุณต้องการสื่อสารจริงๆด้วย

 

วิธีพัฒนาทักษะการสื่อสาร

ยกตัวอย่างการอภิปรายในหัวข้อที่คุณมีมุมมองแตกต่างออกไปเกี่ยวกับหัวข้อนั้น ควรฝึกนิสัยการสื่อสารที่ดีอย่างการตั้งใจฟังและเคารพความคิดเห็นผู้อื่น เพื่อพยายามทำความเข้าใจมุมมองของพวกเขา แล้วจึงค่อยๆอธิบายความคิดเห็นในมุมมองของคุณอย่างมีเหตุผล

 

ทักษะการแก้ปัญหา

การแก้ปัญหา ซึ่งต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อนำวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดไปใช้ และทำความเข้าใจว่าการแก้ปัญหานั้นได้ผลตามเป้าหมายหรือไม่

 

วิธีพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา

โดยทั่วไปแล้วการแก้ปัญหาในที่ทำงานจะเป็นเรื่องง่ายขึ้น หากคุณมีความเข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับข้อมูลเฉพาะในอุตสาหกรรมของคุณ หรือการใช้ทักษะข้อแรกในการสังเกตว่าคนอื่นๆ รอบตัวคุณแก้ปัญหาในที่ทำงานอย่างไร อาจทำการจดและถามเทคนิคจากพวกเขา เพื่อเป็นการเพิ่มข้อมูลให้กับคุณหากต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะด้าน

 

 

เมื่อเราได้ทราบถึงทักษะต่างๆ ที่จะช่วยให้เราพัฒนาการคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วนั้น สามารถนำทักษะต่างๆนั้น มาประกอบกันเป็นกระบวนการให้เกิดการคิดเชิงวิพากษ์ได้ กับ กระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ที่ช่วนพัฒนาทักษะความคิด

 

กระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ที่ช่วนพัฒนาทักษะความคิด กับ 5 ขั้นตอน

 

กระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ สามารถแบ่งออกมาได้ 5 ขั้นตอน ได้แก่ การหาความรู้ ทำความเข้าใจข้อมูล การเชื่อมโยง การคิดวิเคราะห์ และการประเมิน 5 กระบวนการง่ายๆ ที่ช่วยให้คิดแบบมีเหตุผลและรอบคอบมากยิ่งขึ้น

 

การคิดอย่างมีวิจารณญาณถูกทำให้เข้าใจผิดว่าจะต้องเป็นคนฉลาดเท่านั้น ที่เกิดจากคำพูดที่ไม่เหมาะสม จึงทำให้หลายๆคนคิดว่าเกิดมาไม่ฉลาดแล้วพัฒนาความคิดไม่ได้ ก็คงทำให้ไม่มีใครอยากใช้เวลาส่วนตัวไปกับเรื่องพวกนี้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด

 

การฝึกคิดแบบ 5 ขั้นตอนนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น คนที่สมองไวสามารถคิดได้ไว แต่ส่วนคนที่ยังคิดได้ช้านั้น ก็ค่อยๆ เรียงลำดับขั้นตอนอย่างช้า ไม่จำเป็นต้องคิดไวเหมือนคนอื่น

 

ขั้นที่ 1 เข้าใจเป้าหมาย

ตั้งเป้าหมายว่าเราอยากจะวิเคราะห์ในเรื่องอะไร อาจจะเป็นการวิเคราะห์ตรรกะของผู้อื่น อาจจะเป็นการวิเคราะห์ทิศทางการตัดสินใจในสถานการณ์ที่ดีที่สุด แต่ต้องตอบให้ได้ว่า ปัญหาคืออะไรและอยากแก้ปัญหานี้หรือไม่

 

 ขั้นที่ 2 ทำความเข้าใจข้อมูล

หากรู้แล้วว่าปัญหาคืออะไร ต่อไปจะต้องรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงให้มากที่สุด อาจจะเป็นการหาข้อมูลเพิ่มเติม การสอบถามข้อมูลจากผู้อื่น หรือ การทบทวนประสบการณ์ในอดีตที่เคยทำหรือแก้ไขมา ในส่วนนี้จะต้องตอบได้ว่า จะต้องรู้อะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่

 

ขั้นที่ 3 การเชื่อมโยง

การเชื่อมโยงข้อมูลนั้น หมายถึง ต้องมีข้อมูลก่อนจึงจะเชื่อมโยงกันได้ ความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล ถ้าหากว่ายังมีความลังเลสงสัยในความสัมพันธ์ของข้อมูลหรือไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ อาจเป็นเพราะว่า ข้อมูลยังไม่เพียงพอ ดังนั้น ยังไม่ต้องรีบตัดสินใจอะไร ให้ค่อยๆหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเชื่อมโยงให้ตอบโจทย์กับปัญหาที่ต้องการแก้ไขเสียก่อน ไม่ต้องรีบ

 

ขั้นที่ 4 คิดวิเคราะห์

หากผ่านทั้ง 3 ขั้นตอนมาได้ ก็นำข้อมูลที่ได้เชื่อมโยงกันเรียบร้อยแล้วมาคิดว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น จะออกมาในลักษณะไหนบ้าง มีข้อดีและข้อเสีย แตกต่างกันอย่างไร คิดออกผลลัพธ์ออกมาหลายๆแบบ

 

ขั้นที่ 5 เลือก

เมื่อผ่านการคิดวิเคราะห์มาอย่างละเอียดแล้ว เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการเลือกทิศทางเพื่อนำมาตัดสินใจ

 

ทั้งเรายังสามารถ ฝึกวิธีคิดเหล่านี้ได้ จาก 5 เทคนิคในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

 

5 เทคนิคเสริมสร้างการคิดเชิงวิพากษ์ได้ในชีวิตประจำวัน

 

ฝึกตั้งคำถาม

ตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ แล้วเริ่มหาข้อมูล หากได้ข้อมูลผลลัพธ์มาแล้วลองเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียและปัจจัยต่าง ๆ อย่างมีวิจารณญาณ แล้วเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุด

 

รวบรวมข้อมูล

เมื่อเกิดคำถาม การหาข้อมูลในสมัยนี้ง่ายมากเพียงแต่ค้นหาผ่าน Search Engine แต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับความน่าเชื่อถือของข้อมูล ความถูกต้องของข้อมูลต่างหากที่สำคัญ ควรจะค้นคว้า พิสูจน์แหล่งที่มา ข้อเท็จจริง หรือคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ โดยข้อมูลทั้งหมดควรจะรวบรวมจากหลายๆแหล่ง เพื่อเปรียบเทียบความถูกต้อง

 

ลองทดสอบข้อมูล

การทดสอบข้อมูลในที่นี่ จะรวมถึงการตั้งคำถาม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีคำถามกับข้อมูลนั้น ๆ เสียก่อน

 

คิดถึงผลกระทบ

ไม่ว่าจะตัดสินใจแบบใดก็ตาม มีผลกระทบจากการตัดสินใจทั้งนั้น จะต้องมองให้รอบด้านทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในหลายๆมิติ ต้องลองคิดว่าจะเกิดผลอะไรตามมาบ้างหลังจากที่ได้ตัดสินใจ เพื่อจะเกิดความรอบคอบที่มากขึ้น

 

สำรวจมุมมอง

บางทีการคิดเพียงคนเดียว อาจจะทำให้เกิดอคติ วิธีแก้คือลองมองมุมกลับ ลองนึกว่าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่มุมมองของตัวเองบ้างแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ที่จะช่วยในการตัดสินใจที่ดีขึ้น

 

สรุป

จากกระบวนการทั้งหมด เป็นการฝึกทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking คล้ายกับ การคิดแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific thinking) ซึ่งเป็นการไม่ยอมเชื่อโดยปราศจากหลักฐาน หรือ การหาข้อเท็จจริงมาหักล้างสมมติฐาน จุดร่วมที่เหมือนกันของทั้งสองวิธีคิดนั้น คือ การตั้งข้อสังเกตและการตั้งคำถาม จนถึงการตั้งข้อสรุปที่เหตุผล


Download File บทความนี้


พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ Facebook Fanpage



REF:


https://blog.startdee.com

https://faithandbacon.com/critical-thinking/

https://www.goodmaterial.co

 

 

แวะมาทักทายกันได้
donate